น้องเหมียวแอบเมาท์
“ศุ บุญเลี้ยง” แนะโรงเรียนหาทางออก กิจกรรม “วันแม่” กระทบจิตใจ “เด็กกำพร้า”
วันที่ 07 สิงหาคม 2562 - 18.40 น.   เปิดอ่าน 2,353 ครั้ง

     “ศุ บุญเลี้ยง” แนะโรงเรียนหาทางออก กิจกรรม “วันแม่” กระทบจิตใจ “เด็กกำพร้า”

       กลายเป็นเรื่องเด่นประเด็นดัง หลังจาก “ศุ บุญเลี้ยง” เจ้าของเพลง “อิ่มอุ่น” ที่แทบจะทุกโรงเรียนนำมาเปิดในกิจกรรมงาน “วันแม่” โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุกส่วนตัวว่า ถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ควรยกเลิกจัดงานวันแม่ที่โรงเรียน โดยการเชิญ “แม่” มาให้เด็กนักเรียนกราบไหว้ เพราะมองว่าเป็นกิจกรรมแสดงความรักดาบสองคม มีผลกระทบไปที่เด็กที่กำพร้าแม่ และมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย งานนี้ “ศุ บุญเลี้ยง” ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมถึงประเด็นดังกล่าว ผ่านรายการ “ข่าวเช้า Good Morning Thailand” ช่อง MONO29 ช่วงเรื่องเด่นประเด็นดังกับ
     “ต๊ะ-พิภู พุ่มแก้วกล้า” ว่า…

       ประเด็นที่ผมจะชี้แจงจริงๆ เลยคือ รัฐบาลเขาให้โรงเรียนหยุดวันแม่อยู่แล้ว เท่ากับเราเห็นความ สำคัญของวันแม่ ทีนี้โรงเรียนไปเพิ่มอีกวันหนึ่งที่ไม่ใช่วันแม่โดยตรง แต่เป็นวันที่นัดเรามากราบแม่ ซึ่งครูก็มีหน้าที่ปลูกฝัง เรื่องการศึกษา เรื่องการกตัญญู อันนี้ผมเห็นดีด้วย สอนให้กราบแม่ กอดแม่ หอมแม่ ได้หมด แต่ที่สะเทือนใจคือ การเชิญแม่มาโรงเรียน ในขณะที่เด็กจำนวนมาก อาจจะไม่มีพ่อ-แม่ หรือพ่อแม่ไม่ว่างในวันที่จัดงาน มาไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผมเห็นแล้วสะเทือนใจ แล้วไม่ใช่แค่เพิ่งเห็นด้วย เห็นมาหลายปีแล้ว พอถึงวันแม่ก็จะมีคนพูดถึงประเด็นนี้ผ่านมาผ่านไป ผมก็คิดว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ทำเท่าที่คนอย่างผมคนหนึ่งจะทำได้ ก็เลยโพสต์ไปก็มีคนเข้ามาคอมเม้นท์มากมาย
    ถามว่าประเพณีนี้ ที่บอกว่ามันมีมาตั้งนานแล้ว มันนานแค่ไหน รุ่นผมไม่มี บางโรงเรียนก็ไม่ได้จัด ก็เอ๊ะ!! หรือมันไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล เพราะฉะนั้นบางโรงเรียนถึงทำ บางโรงเรียนถึงไม่ทำ แต่จุดหลักคือ ถ้าจะทำ-ต้องระวังอะไร?? เราจัดงานวันแม่ หัวใจไม่ได้อยู่ที่การเอาแม่มา นี่คือจุดที่ผมอยากจะชี้ ยกตัวอย่างเช่นผมกำลังจะเอาไอศครีมไปแจกเด็กในโรงเรียน ผมต้องคิดว่าเอาไปกี่แท่งถึงจะพอ เอาไปตอนไหนยังไงถึงจะไม่ละลาย จัดยังไงให้เด็กตัวเล็กกินก่อน ซึ่งผมว่ามันละเอียดมากนะครับ กับการที่เราทำงานกับเด็ก โดยเฉพาะครู ซึ่งต้องมีสามัญสำนึกของความเป็นครูอยู่

       ส่วนผู้ปกครองเอง ผมว่าพวกเขามองออก ไม่งั้นคงไม่มีคนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น 99% ที่เห็นด้วยมันอาจจะผิดก็ได้ แต่ถ้าผมเป็นนักการเมือง หรือรัฐมนตรีที่จะทำนโยบาย ผมต้องฟังเสียงพวกนี้ให้เยอะ เพราะว่ามันจะได้สอดคล้องกับแนวคิดของประชาชน ดร.วิริยะ (ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการ นำเสนอแนวคิดด้านการเรียนรู้ และผู้วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของประเทศ) ก็ไปทำในเฟสบุกของเขา ผลคือ 96% ที่อยากให้ยกเลิกกิจกรรมแบบนี้
     ซึ่งไม่ได้ต้องการยกเลิกงาน แต่ต้องการยกเลิกการเชิญแม่มา ประเด็นนี้แหละที่ผมยกมา มาโรงเรียนแล้วกลับบ้านเอาพวงมาลัยไปไหว้แม่ที่บ้าน ซึ่งนี้คือวัฒนธรรมที่ดี ที่ถูกกาลเทศะ การกราบพ่อกราบแม่เนี่ย กราบในวาระ ไม่จำเป็นต้องไปขึ้นโชว์บนเวที จริงๆ เพลง “อิ่มอุ่น” ของผมเนี่ยถูกนำไปใช้มาก โรงเรียนเชิญผมไปร่วมงาม เขาเล่าให้ผมฟังว่าเด็กจะร้องไห้กันทั้งโรงเรียน คุณครูน้ำตาคลอ ผมก็เฮ้ย! ไม่ใช่แล้ว
      ผมคิดว่าคนที่มีบทบาทของโรงเรียนคือ สมาคมผู้ปกครอง ที่ควรจะคุยกับทางโรงเรียน ว่าเราเห็นแบบนี้เราอยากจะเปลี่ยนแปลง โรงเรียนมันมีพื้นที่ มีบริบท มีเวลา มีครู ผมว่ามันน่ารักดีที่ลูกๆ เขียนการ์ด เอากลับบ้านก็เอาไปให้แม่ แต่บางทีแค่เขียนเรียงความก็ต้องคิดแล้วว่า เด็กที่ไม่มีแม่จะเขียนยังไง ทุกอย่างมันละเอียด อ่อน ผู้ปกครองจำนวนมาก มีความคิด มีสติปัญญา และที่สำคัญคือมีจินตนาการพอที่จะรู้ว่า แม้จะไม่ใช่ลูกของเรา ความรู้สึกเจ็บปวดของเด็ก ไม่ต้องทำวิจัยก็พอจะรู้ได้ มันเป็นสามัญสำนึกที่คนที่มีลูก หรือคนที่เป็นครูจะต้องมีอยู่แล้ว

      หนึ่งเสียงสะท้อนจากศิลปิน, นักแต่งเพลง ที่ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าว ที่กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ กันมาหลายปี และการออกมาพูดในครั้งนี้จะทำให้แต่ละโรงเรียนนำไปปรับรูปแบบการจัดงานที่ใกล้จะถึง “วันแม่” ที่จะมาถึงนี้หรือไม่

BUNTERNGSOCIETY

 EMAIL : info@bunterngsociety.com

© Copyright 2019 bunterngsociety - All rights reserved.